วันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การตอนกิ่งต้นไม้เพื่อขยายพันธุ์


การตอนกิ่ง (Layering)
การตอนกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ใช้กันมานาน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวสวนทั่วๆ ไป วิธีการตอนกิ่งที่เราใช้กันอยู่
ทุกวันนี้ เป็นวิธีการที่ได้นำมาจากประเทศจีน แต่ได้ดัดแปลงไปบ้าง เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติ ในยุโรป และอเมริกา ก็มีวิธีขยายพันธุ์พืชด้วยการตอนกิ่งเช่นเดียวกัน แต่วิธีการในการตอนกิ่งผิดไปจากวิธีที่รู้จักกันดีในบ้านเรา และเรามักเรียกวิธีการตอนกิ่งแบบยุโรปว่า "การตอนทับกิ่ง" ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะการตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือการตอนกิ่งแบบตอนหุ้มกิ่ง ซึ่งมีวิธีการตอนหุ้มกิ่งหลายแบบ

ไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่งธุึนแบบชาวจีน หรือการตอนทับกิ่งแบบชาวยุโรป โดยหลักการในการตอนต้นพืชแล้วก็คือ การทำให้ต้นหรือกิ่งพืชออก รากขณะที่ยังติดอยู่กับต้นแม่ หลังจากต้นหรือกิ่งพืชออกรากดีแล้ว จึงตัดไปปลูกภายหลัง ฉะนั้น โอกาสของการที่กิ่งพืชจะมีชีวิตอยู่รอด จึงดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยการตัดชำ แต่ก็มีข้อเสียอยู่ที่ว่า ขยายได้ช้ากว่า ด้วยเหตุนี้ ถ้าต้องการต้นพืชจำนวนมากๆ แล้ว มักจะไม่ใช้การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง เว้นแต่ต้นพืชนั้น จะขยายพันธุ์ไม่ได้ด้วยการตัดชำ หรือออกรากยากกว่าการตอนกิ่งเท่านั้น การตอนกิ่งแบบชาวจีน หรือแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นวิธีที่ใช้ในการตอนกิ่งพืชพวกไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งพืชพวกไม้ผล และไม้ประดับ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ กระท้อน กุหลาบ มะลิ ดอนย่า เป็นต้น ส่วนวิธีการตอนนั้น ปฏิบัติเป็นขั้นๆ ดังนี้
s5-200-1
s5-200-2 ก. การเลือกกิ่ง
กิ่งหรือต้นพืชที่จะตอนจะต้องเป็นกิ่งไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ใบงาม ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ได้รับแสงแดดสม่ำเสมอ โดยปกติ มักจะเลือกกิ่งกระโดง ซึ่งอาจจะเป็นกิ่งกระโดงตั้ง หรือกระโดงครีบ ก็ได้
ข. การทำแผลบนกิ่ง

การทำแผลบนกิ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และความยากง่ายในการงอกราก ซึ่งบางพืชอาจไม่ต้องทำแผลเลย ก็สามารถออกรากได้ ส่วนใหญ่มักเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ต้นสาวน้อยประแป้ง พลูด่าง และพลูฉีก พืชบางชนิดอาจใช้วิธีกรีดเปลือกตามยาวของกิ่ง เช่น กุหลาบ ยี่โถ หรือพืชบางชนิดอาจปาดท้องกิ่ง เช่น ต้นชวนชม แต่มีบางชนิดที่ต้องควั่นกิ่ง โดยเฉพาะพืชที่ออกรากยาก มีความจำเป็นที่จะต้องทำแผลโดยการควั่นกิ่ง เพราะการควั่น นอกจากจะทำให้เกิดบริเวณออกรากแล้ว ยังมีผลเกี่ยวกับการสะสมธาตุอาหาร รวมทั้งสารฮอร์โมน ให้เกิดขึ้นภายในกิ่ง ซึ่งจะมีผลดีในการออกรากด้วย ดังนั้น เพื่อความแน่นอนในเรื่องการออกราก ชาวสวนทั่วไปจึงใช้วิธีการทำแผล ด้วยการควั่นกิ่งแทบทั้งสิ้น
s5-200-3 ค. การทาฮอร์โมน

การใช้ฮอร์โมนเร่งรากทาบริเวณที่ทำแผล หรือบริเวณที่กิ่งจะเกิดราก จะช่วยให้กิ่งพืชเกิดรากดีขึ้น คือ มีรากมากขึ้น รากเจริญเร็วขึ้น และอาจออกรากเร็วขึ้น การทาฮอร์โมนปกติจะทาเฉพาะบริเวณที่จะเกิดรากเท่านั้น เช่น บริเวณที่เป็นรอยกรีด หรือรอยปาด หรือรอยควั่นตอนบนเท่านั้น และการที่จะใช้ฮอร์โมนตอนต้นพืชชนิดใดนั้น ควรจะได้ศึกษา หรือทดลองมาก่อน เพราะต้นพืชแต่ละชนิดออกรากยากง่ายต่างกัน โดยปกติ ต้นพืชที่ออกรากไม่ยาก อาจใช้ฮอร์โมนชนิดอ่อน หรือที่มีความเข้มข้นน้อยๆ ก็เพียงพอ ส่วนต้นพืชที่ออกรากยากๆ จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนแรงๆ หรือที่เข้มข้นมากๆ ตามลำดับ การใช้ฮอร์โมนที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวนี้ นอกจากจะไม่ได้ผลดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายกิ่งพืชที่ตอน และทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ง. การหุ้มกิ่งตอน

วัตถุที่จะใช้หุ้มกิ่งตอน อาจใช้วัตถุต่างๆ ได้หลายอย่าง ข้อสำคัญก็คือ วัตถุนั้นๆ ต้องอมความชื้นได้พอ ไม่เป็นพิษกับกิ่งพืช มีราคาถูก และหาได้ง่าย เช่น หญ้ามอสส์ (sphagnum moss) กาบมะพร้าวชุบน้ำ ปุยมะพร้าว ผ้ากระสอบป่าน หรือรากผักตบชวา แม้กระทั่งดินธรรมดาๆ ทั่วๆ ไปใช้ก็ได้ แต่วัตถุที่นิยมใช้จะต้องสะดวกต่อการหุ้ม เช่น ใช้กาบมะพร้าวชุ่มน้ำ ทุบให้แผ่ ตัดเป็นท่อนให้พอเหมาะกับขนาดกิ่งตอน ซึ่งเมื่อจะหุ้ม ก็จะสามารถหุ้มกิ่งได้ง่าย ส่วนการหุ้มอาจใช้วัตถุชนิดเดียว เช่น หญ้ามอสส์ล้วนๆ หรือกาบมะพร้าวล้วนๆ หรืออาจใช้ดินหุ้มก่อนแล้วหุ้มหญ้ามอสส์ หรือกาบมะพร้าวอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ข้อสำคัญก็คือ ต้องพันหรือหุ้มวัตถุหุ้มกิ่งให้แน่นพอสมควร อย่าให้หมุนหรือคลอนไปมาได้ง่าย และพยายามหุ้มให้กลางกระเปาะวัตถุที่หุ้ม อยู่ตรงกับบริเวณที่ออกรากด้วย
s5-201-1



s5-201-3
จ. การรักษาความชื้น

หลังจากตอนกิ่งแล้ว โดยเฉพาะราว ๓-๕ วัน จากที่หุ้มกิ่ง จะต้องรดน้ำกระเปาะตอน หรือมัดวัตถุหุ้มกิ่งที่ตอนนั้นให้ชื้นสม่ำเสมอ ในการรักษาความชื้นนี้ อาจใช้วิธีรดน้ำกระเปาะที่ตอนทุกวัน หรือใช้วิธีรดทั้งต้นแบบฝนตก แต่ที่สะดวกก็คือใช้ผ้าพลาสติกหุ้มให้มิด ทั้งนี้ เพื่อมิให้น้ำจากกระเปาะวัตถุนั้นระเหยออกมาได้ การหุ้มผ้าพลาสติกกระเปาะที่ตอนแล้ว ควรจะได้หุ้มเสียแต่ตอนแรก ขณะที่วัตถุนั้นยังชื้นอยู่ ซึ่งการหุ้มพลาสติกในทำนองนี้จะช่วยให้กระเปาะกิ่งตอนชื้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกิ่งออกราก อย่างไรก็ตามในระหว่างรอการออกราก ควรจะได้ตรวจดูกระเปาะตอนบ้าง เพราะอาจมีมดกัดผ้าพลาสติกให้เป็นรู ทำให้กระเปาะตอนแห้งได้ การแก้ไขก็คือ ใช้เข็มฉีดยา ฉีดน้ำเข้าไปในกระเปาะตอนราว ๕-๗ วันต่อครั้ง จนกว่ากิ่งจะออกรากมากพอและตัดมาปลูกได้

<< ย้อนกลับ

จาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          >> Link

ไม่มีความคิดเห็น: